Tuesday, June 3, 2008

เตาเผาถ่านโดยใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตร นำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นถ่านได้ผลผลิตที่มากกว่าปกติ ผลิตถ่านดูดกลิ่น น้ำส้มควันไม้

พลังงานทางเลือก

พิชิต วนิชพันธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

เยี่ยมบ้านคอทราย ดูพลังงานชุมชนลดค่าใช้จ่าย

ใน ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาราคาพลังงาน ซึ่งมีราคาสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ ที่ผ่านมาแม้จะมีการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักต่อสถานการณ์ด้านพลังงานและใช้ พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่พบว่าในหลายๆ พื้นที่นั้นยังไม่ยอมปรับปรุงพฤติกรรมการใช้พลังงาน ทั้งนี้ อาจเพราะส่วนใหญ่นั้นคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรืออาจจะขาดความรู้และไม่มีการรวมกลุ่มจัดการพลังงาน ที่จะสามารถลงมือปฏิบัติได้จริง

จากข้างต้นนั้น ทางกระทรวงพลังงาน จึงจัดทำโครงการแผนพลังงานชุมชนขึ้น โดยมีรูปแบบการทำงานร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการมุ่งส่งเสริมทัศนคติเรื่อง การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการวางแผนพลังงานระดับชุมชน เพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่และวัสดุเหลือใช้ มาเป็นพลังงานทดแทน ภายใต้สโลแกน "ชีวิตพอเพียง เพื่อพลังงานเพียงพอ"

สำหรับ แผนพลังงานชุมชนนั้น มีวัตถุประสงค์หลักคือ สร้างแผนพลังงานระดับตำบลเพื่อสร้างขีดความสามารถให้องค์การบริหารส่วนตำบล มีศักยภาพในการทำแผนงานได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยจะสร้างความเข้าใจร่วมกันและสร้างทีมคณะทำงานชุมชนจัดเก็บข้อมูลพลังงาน ในพื้นที่ ประมวลผลสถานภาพพลังงาน และนำข้อมูลที่ได้มาบอกกับชุมชน ประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างแผนพลังงาน แล้วจึงปฏิบัติตามแผนที่วางไว้

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ทางกระทรวงพลังงานได้จัดงานพาไปเยี่ยมชมโครงการจัดทำแผนพลังงานชุมชนที่ ประสบความสำเร็จ โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากการประกวดของโครงการ คือชุมชนบ้านคอทราย อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี โดยเมื่อเดินทางไปถึง ทางด้าน อบต.คอทราย ก็ให้การต้อนรับ คณะทำงานพลังงานชุมชนรายงานผลการดำเนินงานและกิจกรรมการวางแผนพลังงานชุมชน

โดย ทางกระทรวงพลังงานร่วมกับทางด้านองค์การบริหารส่วนตำบลคอทราย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ได้จัดกิจกรรมวางแผนท้องถิ่นขึ้นเป็นเวลา 7 เดือน คือระหว่างเดือนมีนาคม 2550-กันยายน 2550 เพื่อพัฒนาศักยภาพ องค์การบริหารส่วนตำบลและชุมชนในการทำแผนพลังงาน และริเริ่มกิจกรรม วางแผนพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในชุมชน ด้วยการร่วมมือของหลายฝ่าย อาทิ สมาชิกสภา คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มสตรี เยาวชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกชุมชน

เหตุสำคัญด้านพลังงาน ของชุมชนคอทรายนั้น มาจากความไม่รู้ทั้งที่มีวัสดุที่สามารถแปลงเป็นพลังงานทดแทนได้ เมื่อไม่รู้ก็ทำให้เสียโอกาส สูญเสียค่าใช้จ่ายไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของโครงการที่ปรึกษา แสดงให้เห็นว่าชุมชนตำบลคอทรายนั้นบริโภคพลังงาน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 11,724,223 บาท

เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ ทางด้านองค์การบริหารส่วนตำบลและประชาชนในชุมชนได้ผลสรุปจากการจัดเวที ประชาคมในรูปแผนพลังงานชุมชน คือโครงการส่งเสริมการใช้เตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง (เตาอั้งโล่ในครัวเรือน) และโครงการเตาเผาถ่าน ขนาด 200 ลิตร เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่าควบคู่กับการใช้ เตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง

หลังจากที่ชุมชนตำบลคอทรายดำเนินการตาม โครงการที่วางไว้ ส่งผลให้ประชากรในตำบลคอทรายมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคพลังงานโดย การนำเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูงไปใช้ในครัวเรือน 231 เตา มีการสร้างเตาเผาถัง 200 ลิตร จำนวน 85 เตา สามารถผลิตถ่านคุณภาพสำหรับใช้ในครัวเรือน ได้ประมาณ 81,600 กิโลกรัม ต่อปี ทำให้ลดการใช้ก๊าซหุงต้มในชุมชน

หลังจากที่ฟังการรายงานของทาง คณะทำงานพลังงานชุมชนเรียบร้อย ก็พาไปเยี่ยมชมพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ด้านการผลิตพลังงาน ได้แก่ บ้านคุณสมชาย ปานทอง ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 42 หมู่ที่ 1 ตำบลคอทราย อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี 16150 เพื่อไปดูเตาเผาถ่านจากถัง 200 ลิตร โดยคุณสมชายนั้นถือเป็นชาวบ้านคนแรกของชุมชนที่นำเตาเผาถ่านถัง 200 ลิตร มาใช้ หลังจากได้ไปดูงานกับทางกระทรวงพลังงาน

โดยเตาเผาถ่าน 200 ลิตร ของคุณสมชายนั้นจะมีความแตกต่างจากที่อื่นคือ จะเป็นแบบวางนอนแล้วนำดินมาโบกปิดไว้ จะนิยมใช้ดินที่มีความเหนียว และจะใช้ตะแกรงเหล็กหรือลวดนำมาวางแล้วจึงนำดินมาโบกรอบเตาเพื่อให้เป็นโครง สร้างที่แข็งแรง หากถัง 200 ลิตร พังก็แค่นำใบใหม่มาเปลี่ยนใส่แทน

สำหรับ วิธีการสร้างเตาเผาถ่านโดยใช้ถังน้ำมัน 200 ลิตร นั้นต้องเลือกสถานที่ในการสร้างเตา โดยควรเป็นที่ดอน ควรอยู่ห่างจากบ้านเรือนอย่างน้อย 50 เมตร อยู่ใกล้แหล่งไม้ฟืน หรือวัตถุดิบ โดยจะใช้วัสดุ/ส่วนประกอบ คือ

1. ถังน้ำมัน 200 ลิตร 1 ถัง

2. 2. ท่อใยหิน เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ยาว 1-1.5 เมตร 1 ท่อ

3. 3. ข้องอใยหิน เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว

4. 4. อิฐบล็อค 4 ก้อน

5. 5. ดินเหนียว

6. 6. ขี้เถ้าแกลบ (แกลบดำ)

7. ดินหรือทราย (ทำฉนวนหุ้มเตา)

8. 8. ไม้ไผ่ เส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 3 นิ้ว เจาะทะลุปล้อง ความยาวอย่างน้อย 5 เมตร

9. 9. ภาชนะใส่น้ำส้มควันไม้ ควรเป็นถังพลาสติคทรงสูง เพราะน้ำส้มควันไม้เป็นกรด ถ้าหากใช้ภาชนะรองเป็นโลหะ กรดจะกัดโลหะทำให้น้ำส้มควันไม้คุณภาพไม่ดี

10. 10. สายยาง

หลัง จากที่เตรียมวัสดุเสร็จแล้วก็จะมาถึงขั้นตอนการประกอบเตา โดยการนำถังน้ำมัน 200 ลิตร ตัดฝาด้านใดด้านหนึ่งออก ให้สามารถเปิด-ปิด ได้ นำฝาที่ตัดออกเจาะเป็นรูสี่เหลี่ยม 20x20 เซนติเมตร ส่วนฝาอีกด้านหนึ่งไม่ต้องตัดออก แต่ให้เจาะรูกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ปูพื้นด้วยทราย ให้มีขนาดความกว้าง-ยาว เท่ากับถังน้ำมัน 200 ลิตร และนำถังน้ำมันไปวางไว้ ประกอบข้องอและท่อใยหิน ซึ่งทำหน้าที่เป็นปล่องควัน ต่อเข้ากับเตาที่ได้ เจาะรูขนาด 4 นิ้ว พร้อมกับประสานรอยต่อโดยใช้ดินเหนียวผสมกับขี้เถ้าแกลบ

นำดินเหนียว ไปหุ้มเตาทั้ง 3 ด้าน คือด้านข้าง 2 ด้าน และด้านบน ความหนาประมาณ 30 เซนติเมตร จะทำให้เก็บความร้อนภายในเตาได้ดีขึ้น (เป็นฉนวน) ใช้เหล็กเส้นความยาวประมาณ 1 ฟุต 2 อัน วางไว้ภายในเตาในแนวขวาง หัว-ท้าย เพื่อให้ความร้อนหมุนเวียนได้ดีขึ้น นำไม้ฟืน ตัดให้มีความยาว 80 เซนติเมตร (ถังน้ำมัน 200 ลิตร ยาว 90 เซนติเมตร) วางไปตามความยาวของเตาจนเต็ม ไม้ที่นำไปเผาไม่ควรสด-แห้ง จนเกินไป ปิดฝาถัง จากนั้นนำอิฐบล็อคมาวางไว้ด้านหน้าเตา บริเวณช่องที่เจาะไว้ และประสานรอยต่อโดยใช้ดินเหนียวกับขี้เถ้าแกลบ

หลังจากนั้น ก็จุดไฟบริเวณหน้าเตา โดยค่อยๆ ใส่เชื้อเพลิง ความร้อนจะกระจายเข้าสู่ตัว

เตา เพื่อไล่อากาศเย็นและความชื้นที่อยู่ในเตา ในระยะแรกควันจะมีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นกลิ่นกรดที่อยู่ในไม้ ค่อยๆ ใส่เชื้อเพลิงเข้าไปเรื่อยๆ ควันสีขาวตรงปล่องควันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเผาไปอีกระยะหนึ่ง ควันสีขาวจะเริ่มบางลงและเปลี่ยนเป็นสีเทา ช่วงนี้จะต้องลดเชื้อเพลิงลง เนื่องจากเป็นช่วงที่สารที่อยู่ในเนื้อไม้ถูกขับออกมา สังเกตโดยบริเวณปากปล่องควัน จะมีสารสีดำที่เรียกว่ายางไม้ หรือ Tar ติดอยู่ จากนั้นควันจะเปลี่ยนจากสีเทาเป็นสีน้ำเงิน ขั้นตอนต่อไปจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นช่วงที่ไม้จะเปลี่ยนเป็นถ่าน ให้เฝ้าสังเกตดูควันที่ปล่องควันจะเปลี่ยนจากสีน้ำเงินเป็นสีฟ้า แสดงว่าฟืนภายในเตาเริ่มจะกลายเป็นถ่าน จากนั้นควันสีฟ้าจะอ่อนลง ยางไม้ที่เกาะอยู่บริเวณปล่องควันด้านในจะแห้ง อุณหภูมิภายในเตาจะสูงมาก ประมาณ 500 องศาเซลเซียส ในที่สุดควันสีฟ้าก็จะหมดไป และเปลี่ยนเป็นควันใส ซึ่งแสดงว่าไม้ที่อยู่ในเตาได้กลายเป็นถ่านไปหมดแล้ว ให้เริ่มปิดหน้าเตาก่อน โดยใช้ดินเหนียวปิดรอยรั่ว รอยต่อ จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ปิดปล่องควันให้สนิท ก็ถือเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการเผาถ่าน จากนั้นทิ้งไว้หนึ่งคืน หรือประมาณ 10 ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ถ่านดับสนิท แล้วจึงเปิดเตาเพื่อเอาถ่านออก วางเรียงในที่โล่งแจ้งก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ถ่านกลับติดลุกเป็นไฟ แล้วจึงบรรจุใส่ภาชนะหรือกระสอบ

สำหรับ การทำงานของเตาเผาถ่านถัง 200 ลิตรนี้ จะไม่เหมือนการเผาถ่านแบบทั่วไป เพราะจะเป็นการจุดไฟจากด้านนอกเพื่อให้ความร้อนนั้นเข้าไปไล่ความชื้นใน เนื้อไม้จนกลายเป็นถ่าน จึงทำให้ได้ผลผลิตที่มากกว่าปกติ เนื่องจากปกตินั้นไม้ที่จะนำไปใช้เผานั้นต้องมีขนาดใหญ่ เมื่อเผาออกมาก็จะได้ถ่านแค่ส่วนหนึ่ง ส่วนอื่นก็จะเสียไป แต่เตาชนิดนี้สามารถใช้ไม้ทั้งชิ้น และยังสามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นถ่านได้ เช่น เปลือกทุเรียน ฝักบัว กาบมะพร้าว กาบตาล เป็นต้น จึงทำให้เกิด การผลิตถ่านดูดกลิ่นขึ้นมา โดยจะใช้เปลือกหรือผลของผลไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่มาเผาทำถ่าน เพื่อดูดกลิ่น เนื่องจากถ่านผลไม้นั้นจะสามารถดูดกลิ่นได้ดีกว่าถ่านที่ทำมาจากไม้ทั่วไป ถ่านผลไม้นี้ได้รับการยอมรับและสนับสนุนให้เป็นสินค้าโอท็อป สร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

นอกจากเผาถ่านแล้ว เตาถัง 200 ลิตร นี้ยังสามารถที่จะอบแห้งสมุนไพรได้อีกด้วย โดย คุณยุ้ย ปานทอง แพทย์แผนไทย หมอโบราณ บิดาของคุณสมชายนั้นจะอบแห้งส่งทางโรงพยาบาลสิงห์บุรี โดยจากเดิมต้องใช้ตู้อบทั้งหมด แต่ปัจจุบันจะใช้เตาถัง 200 ลิตร โดยนำถาดใส่สมุนไพรมาวางไว้บนเตา เพื่อให้ได้รับความร้อนจนสมุนไพรนั้นแห้งเหมือนใช้ตู้อบ ถือเป็นการช่วยลดการใช้พลังงานอย่างหนึ่ง

นอกจากข้อดีต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว เตาเผาถ่านถัง 200 ลิตร นั้น ยังมีผลผลิตที่ถือเป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่าน จะมาจากควันที่เกิดจากการเผาถ่านในช่วงที่ไม้กำลังเปลี่ยนเป็นถ่าน เมื่อทำให้เย็นลงจนควบแน่นแล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ของเหลวที่ได้นี้เรียกว่า น้ำส้มควันไม้ มีกลิ่นไหม้ ส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นกรดอะซิติก มีความเป็นกรดต่ำ มีสีน้ำตาลแกมแดง

น้ำ ส้มควันไม้ มีสารประกอบต่างๆ มากมาย เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรจะมีคุณสมบัติ เช่น เป็นสารปรับปรุงดิน สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และสารเร่งการเติบโตของพืช นอกจากนี้ มีการนำน้ำส้มควันไม้ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม เช่น ใช้ผลิตสารดับกลิ่นตัว ผลิตสารปรับผิวนุ่ม ใช้ผลิตยารักษาโรคผิวหนัง เป็นต้น

สำหรับการเก็บน้ำส้มควันไม้นั้นก็จะนำไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ให้ส่วนโคนอยู่เหนือปล่องควัน 20เซนติเมตร ส่วนปลายให้ชี้ขึ้นทำมุม 45 องศา โดยนำวัสดุยึดไว้เจาะรูด้านล่างของไม้ไผ่ ขนาด 1 เซนติเมตร บริเวณโคนของไม้ไผ่ นำปลายสายยางด้านหนึ่งไปสวมไว้ที่รูไม้ไผ่ อีกด้านหนึ่งหย่อนลงในถังพลาสติค ควันที่ออกจากปล่องจะเป็นไอร้อน เมื่อกระทบกับอากาศในลำไม้ไผ่จะเกิดการควบแน่นกลายเป็นหยดน้ำ แล้วจะไหลย้อนกลับลงมาผ่านรูที่เจาะ ผ่านสายยางลงสู่ถังพลาสติค แนะนำให้เก็บในช่วงอุณหภูมิปากปล่องควันประมาณ 80-85 องศาเซลเซียส ช่วงอุณหภูมิภายในเตาจะประมาณ 300-400 องศาเซลเซียส ถ้าเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า 300 องศาเซลเซียส จะได้สารประกอบที่มีประโยชน์น้อยมาก และถ้าเก็บควันในช่วงที่อุณหภูมิเกิน 425 องศาเซลเซียส น้ำมันดินหรือน้ำมันทาร์ (Tar) จะสลายตัวเป็นสารก่อมะเร็ง

สำหรับน้ำส้มที่ได้มานั้นยังไม่สามารถ ใช้ประโยชน์ได้ทันที เพราะจะไปปิดปากใบของพืชและเกาะติดรากพืช ทำให้พืชโตช้าหรือตายได้ ดังนั้น จึงต้องทำให้บริสุทธิ์เสียก่อน ซึ่งทำได้ 3 วิธี คือ การปล่อยให้ตกตะกอน โดยนำน้ำส้มควันไม้มาเก็บในถังทรงสูง มีความสูงมากกว่าความกว้างประมาณ 3 เท่า โดยทิ้งให้ตกตะกอนประมาณ 90 วัน น้ำส้มควันไม้จะตกตะกอนแบ่งเป็น 3 ชั้น ชั้นบนสุดจะเป็นน้ำมันใส (Light Oil) ชั้นกลางเป็นของเหลวสีชา (Wood Vinegar) และชั้นล่างสุดจะเป็นของเหลวสีข้นดำ คือ น้ำมันดิน (Tar) ผงถ่านผสมน้ำมันดิน สามารถนำไปโรยรอบอาคาร เพื่อป้องกันสัตว์ต่างๆ เช่น มด ปลวก ตะขาบ ฯลฯ และจะสลายตัวได้เองภายในเวลาไม่นานนัก แต่ห้ามทิ้งลงแหล่งน้ำเด็ดขาด

หลังจากตกตะกอนจนครบกำหนดแล้ว นำน้ำส้มควันไม้มากรองซ้ำอีกครั้งด้วยผ้ากรอง แล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ น้ำส้มควันไม้ที่บริสุทธิ์ ต้องมีน้ำมันดินไม่เกิน 1% ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ง่าย โดยดูความใส หากมีน้ำมันดินเกิน 1% น้ำส้มควันไม้จะขุ่นและมีสีดำ น้ำส้มควันไม้ที่ดีจะมีลักษณะใสสีชา หรือน้ำตาลแดง แตกต่างกันไปตามชนิดของไม้ ซึ่งหากได้จำนวนมากอาจนำไปจำหน่าย ถือเป็นรายได้เสริมอีกทาง

นอกจาก เตาเผาถ่านถัง 200 ลิตร แล้ว ทางหมู่บ้านคอทรายนั้นก็ยังมีอุปกรณ์ที่ช่วยลดการใช้พลังงานอีกชนิดคือ เตาซุปเปอร์อั้งโล่ ซึ่งเตาชนิดนี้จะมีความแตกต่างจากเตาที่ใช้ทั่วไปตามบ้านเรือน คือ จะมีช่องที่ใส่ถ่านเป็นทรงลึก และปากเตาเล็กจึงจะมีอากาศผ่านเข้าได้น้อย สามารถใช้ถ่านได้คุ้มค่า และยังมีฝาปิดหน้าเตาเพื่อที่สามารถควบคุมความแรงของไฟได้ เมื่อนำมาใช้กับถ่านที่เผาจากเตาถัง 200 ลิตร ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยคุณสมชายกล่าวว่า หลังจากที่มีอุปกรณ์ 2 สิ่งนี้ ทำให้เขานั้นสามารถลดการใช้ก๊าซหุงต้ม จากปกติ 3 เดือน 1 ถัง เป็น 9 เดือน ต่อ 1 ถัง เลยทีเดียว

จากที่ได้เยี่ยมชมบ้านคอทรายนั้น ทำให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และการร่วมมือกันของชุมชนนี้ ซึ่งหากทางด้านชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ นั้น ให้ความร่วมมือกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมของเราเหมือนกับประชากรใน ชุมชนบ้านคอทรายแล้วละก็ ประเทศไทยนั้นคงสามารถแก้ปัญหาด้านพลังงานหรือแม้กระทั่งปัญหาอื่นๆ ได้ไม่ยาก

1 comment:

Unknown said...

ผมได้ทดลองดัดแปลงทำเตาเผาถ่านเห็นว่าใช้ได้ดี
เลยอยากให้ ท่านที่สนใจนำแบบไปทำดู
http://www.rakbankerd.com/agriculture/wb/show.php?Category=agriculture&No=12686